พัฒนาอาจารย์ - ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย

พัฒนาอาจารย์

การพัฒนาอาจารย์

เนื้อหามี 4 ส่วนดังนี้

  • การพัฒนาอาจารย์ 
  • รายชื่อ C10 ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว

 

การพัฒนาอาจารย์ (Faculty Development)

ปรับปรุงล่าสุด 12 มกราคม 2565

ผศ.นพ.กฤษณะ สุวรรณภูมิ

 

จะต้องทำให้อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีความรู้ครอบคลุม ใน 3 เรื่อง ดังนี้

  1. ความรู้ตามสาขาวิชาชีพ (Content knowledge)
  2. ความรู้เกี่ยวกับการสอน (Pedagogical content knowledge)
  3. ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร (Curricular knowledge)

 

  1. ความรู้ตามสาขาวิชาชีพ (Content knowledge)

ตัวอย่างและแนวทางการพัฒนาตนเอง:

1.1 การศึกษาต่อเนื่องสำหรับแพทย์ (Continuing Medical Education: CME) เป็นกระบวนการเข้าร่วมในกิจกรรมวิชาการด้านการแพทย์ แนะนำให้อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงทะเบียนในเว็บไซต์ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ แพทยสภา ที่ https://www.ccme.or.th/ และเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการเพื่อเก็บสะสมหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง

1.2 การศึกษาต่อ (Continuing Education:CE)

1.2.1 การฝึกอบรมต่อยอดของแพทยสภามี 2 ระดับ

  • ประกาศนียบัตรวิชาชีพเวชกรรม ระยะเวลา 1 ปี เมื่อจบการฝึกอบรมจะได้รับ Certificate of Medical Proficiency เป็นการฝึกอบรมที่เน้นการเพิ่มศักยภาพของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และเป็นการเพิ่มบทบาทตามความสนใจของแพทย์แต่ละคน ปัจจุบันราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เปิดฝึกอบรม เวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง (Palliative care in Family Medicine) ตั้งแต่ พ.ศ.2562 และจะเปิดการฝึกอบรมในเร็วๆนี้อีก 2 ด้านคือ เวชศาสตร์การเสพติดในเวชศาสตร์ครอบครัว (Addiction Family Medicine ) และการดูแลผู้สูงอายุในเวชศาสตร์ครอบครัว (Geriatric Family Medicine)
  • แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellowship) ระยะเวลา 2 ปี เมื่อจบการฝึกอบรมจะได้รับ Diploma Thai Subspecialty Board เป็นการฝึกอบรมที่เน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการ ในปัจจุบันราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด

1.2.2 นอกจากนี้แล้วอาจารย์แพทย์สามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา (Postgraduate Study) ระดับปริญญาโท (Master: M/MSc/MClSc) หรือปริญญาเอก (Doctor of Philosophy: PhD) ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์ครอบครัว

1.2.3 การพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพ (Continuous Professional Development: CPD) ตัวอย่างเช่นการเข้ารับการอบรมหลักสูตรรองแพทย์ เพื่อเตรียมตัวขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล

 

  1. ความรู้เกี่ยวกับการสอน (Pedagogical content knowledge)

ตัวอย่างและแนวทางการพัฒนาตนเอง:

2.1 การอบรมอาจารย์ใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา หรือโรงพยาบาล เช่น หลักสูตร Rookie Teachers ของกระทรวงสาธารณสุข

2.2 การฝึกอบรมระยะสั้นด้านแพทยศาสตรศึกษา มีระยะเวลาการฝึกอบรมแตกต่างกันไปตั้งแต่ วัน สัปดาห์ เดือน หรือปี ทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น หลักสูตร Essential Course in Medical Education (ECME) ของกระทรวงสาธารณสุข, Academic Fellowship in Family Medicine ซึ่งเป็นหลักสูตรพัฒนาอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของ University of Toronto ประเทศแคนาดา

2.3 การศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา (Postgraduate Study) ระดับปริญญาโท (Master: M/MSc/MClSc) หรือปริญญาเอก (Doctor of Philosophy: PhD) ในด้านแพทยศาสตรศึกษา (Medical Education หรือ Health Professions Education) ทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านแพทยศาสตรศึกษา เช่น University of Dundee, Maastricht University, Cardiff University, University of Illinois at Chicago

 

  1. ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร (Curricular knowledge)

ตัวอย่างและแนวทางการพัฒนาตนเอง:

3.1 ศึกษาหลักสูตรก่อนปริญญา หากอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีสอนนักศึกษาแพทย์ ควรศึกษาหลักสูตร (Curriculum) และคู่มือรายวิชา (Course Syllabus) ให้เข้าใจ

3.2 ศึกษาหลักสูตรหลังปริญญา หากอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีสอนแพทย์ประจำบ้าน ควรศึกษาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับ มคว1, มคว2 และ มคว3 

 

Verified by MonsterInsights