ปรับปรุงล่าสุด 29 เมษายน 2563
คำถามที่พบบ่อย
หลักสูตรประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการดูแลแบบประคับประคอง
1. หลักสูตรนี่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าอย่างไร
ตอบ หลักสูตรเพื่อประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง
2. เป็นการฝึกอบรมอนุสาขาต่อยอด (Fellowship) ตามประกาศของแพทยสภาใช่หรือไม่
ตอบ ไม่ใช่ เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรฯ เพื่อต่อยอดสำหรับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นตามที่อนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ประกาศ ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในด้านการดูแลแบบประคับประคอง โดยได้รับการรับรองจากคณะอนุกรรมการกลางการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านของแพทยสภา และมีการบริหารหลักสูตรฯ ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2560 โดยมีราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวฯ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรฯ
3. ระยะเวลาฝึกอบรมเป็นอย่างไร
ตอบ เป็นหลักสูตรเรียนเต็มเวลา 1 ปี
4. นอกจากแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวแล้ว แพทย์สาขาใดบ้างที่สามารถสมัครหลักสูตรฯ นี้ได้
ตอบ แพทย์เฉพาะทางสาขาหลักที่สามารถเข้ารับการอบรม ได้แก่ เวชศาสตร์ครอบครัว จิตเวชศาสตร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา อายุรศาสตร์และอนุสาขา วิสัญญีวิทยา สูตินรีเวชวิทยา ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู อายุรศาสตร์โรคเลือด (ตามประกาศราชวิทยาลัยฯ 25 ธค. 2561) รวมทั้ง เวชศาสตร์ฉุกเฉิน จักษุวิทยา และโสต ศอ นาสิก (ตามมติ อฝส. 11 กย. 2562)
ปรับปรุงล่าสุด 29 เมษายน 2563
5. สาขานอกจากข้อ 4 หรือแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปสามารถสมัครได้หรือไม่
ตอบ ตามข้อกําหนดด้านคุณสมบัติของแพทยสภา ในปัจจุบันแพทย์ที่เข้ารับการอบรมต้องได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติมาแล้วเท่านั้น แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์สาขาอื่นๆ นอกเหนือจากในข้อ 4 ยังไม่สามารถสมัครได้ และหากต้องการสมัครต้องผ่านการพิจารณารับรองจากคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ก่อน
6. ประกาศนียบัตรมีอายุหรือไม่
ตอบ ประกาศนียบัตรฯ มีอายุ 5 ปี การต่ออายุจะเป็นไปตามประกาศของราชวิทยาลัยฯ ต่อไป
7. รับสมัครอย่างไรและช่วงไหนบ้าง
ตอบ ติดตามและติดต่อสถาบันการฝึกอบรมที่เปิดการฝึกอบรมในปีนั้นๆ โดยจะดำเนินการ 2 ช่วง คล้ายกับการรับสมัครแพทย์ประจำบ้าน การรับสมัครรอบที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน และรอบที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี
8. หากมีประสบการณ์ด้านการดูแลแบบประคับประคองจะยื่นขอรับประกาศนียบัตรฯ ได้หรือไม่
ตอบ เนื่องจากเป็นสาขาใหม่ที่ยังไม่เคยเปิดการอบรมมาก่อน เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมตามบทเฉพาะกาลในประกาศหลักสูตรฯ ให้ผู้ที่มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์ด้านการดูแลแบบประคับประคองสามารถขอรับประกาศนียบัตรฯ นี้ได้โดยไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ต้องยื่นเสนอความจำนงค์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
9. ใครบ้างที่สามารถขอรับประกาศนียบัตรฯ ตามที่ระบุในข้อ 8 ได้
ตอบ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. เป็นผู้ที่สำเร็จการฝึกอบรมสาขาการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคองจากต่างประเทศที่เป็นหลักสูตรเรียนเต็มเวลาอย่างน้อย 1 ปี 2. ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป และมีผลงานวิชาการในด้านนี้ตามประกาศของราชวิทยาลัยฯ
ปรับปรุงล่าสุด 29 เมษายน 2563
ผู้สมัครทั้งสองกลุ่มต้องมีการทำเวชปฏิบัติด้านการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่น้อยกว่า 140 ชั่ว โมง (ไม่นับการอยู่เวรนอกเวลาราชการหรือการเข้าประชุมวิชาการ/ฝึกอบรม) หรือมีจำนวนผู้ป่วยประคับประคองที่ได้ดูแลด้วยตนเองอย่างน้อย 100 รายใน 1 ปีที่ผ่านมาก่อนการยี่นขอประกาศนียบัตรฯ
10. ผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 9 ต้องสอบหรือไม่
ตอบ ขึ้นกับประเภทของผู้สมัคร
1. หากสำเร็จการฝึกอบรมเต็มเวลาจากต่างประเทศที่มีระยะเวลาการฝึกอบรมอย่างน้อย 1 ปี และมีประสบการณ์การปฏิบัติงานในประเทศไทยหลังจากสำเร็จการอบรมมา 1 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องสอบสัมภาษณ์ แต่หากมีประสบการณ์น้อยกว่า 1 ปีจำเป็นต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์
2. ส่วนผู้ที่ต้องการยื่นในประเภทที่ 2 ต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ทุกคน
11. ผลงานวิชาการที่สามารถใช้ยื่นเพื่อขอรับประกาศนียบัตรฯ หมายถึงอะไรบ้าง
ตอบ ผลงานวิชาการต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ Palliative care โดยอาจเป็นงานวิจัย 1 เรื่อง หรือ บทความทางวิชาการ 2 เรื่อง หรือ ตำรา/หนังสือ 1 เล่ม ที่มีการเผยแพร่ไม่เกิน 10 ปีก่อนหน้าปี 2562 โดยผลงานทางวิชาการต้องได้รับการเผยแพร่ในฐานข้อมูลที่กำหนดนี้เท่านั้นได้แก่
– ฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ได้แก่ ERIC, MathSciNet, Pubmed, Scopus, Web of Science (เฉพาะในฐานข้อมูล SCIE, SSCI และ AHCI เท่านั้น), JSTOR และ Project Muse
– ฐานข้อมูลระดับชาติ ได้แก่ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index- TCI) เฉพาะวารสารที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2
12. หลังยื่นใบสมัครเพื่อขอรับประกาศนียบัตรฯ ทางราชวิทยาลัยฯ จะมีการดำเนินการต่ออย่างไร
ตอบ ทางอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กําหนดหรือไม่ กรณีที่เป็นการสมัครโดยใช้ผลงานวิชาการ จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสามท่านพิจารณาคุณภาพของผลงานวิชาการว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ก่อนการประกาศผู้ที่ผ่านการพิจารณาผลงานวิชาการ และจะต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ต่อไป
(รายละเอียดอื่นๆ สามารถศึกษาได้จากประกาศราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เรื่องวิธีการยื่นเสนอขอรับประกาศนียบัตรในวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง)